วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ประวัติเกาหลีใต้

ประวัติประเทศเกาหลีใต้

สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) หรือ เกาหลีใต้ (South Korea) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมส่วนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี พรมแดนทางเหนือติดกับประเทศเกาหลีเหนือ มีประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้โดยมีทะเลญี่ปุ่นและช่องแคบเกาหลีกั้นไว้


ในภาษาเกาหลีอ่านชื่อประเทศว่า แดฮัน มินกุก (อักษรฮันกึล: 대한 민국, อักษรฮันจา: 大韓民國) โดยเรียกสั้น ๆ ว่า ฮันกุก (한국) ที่หมายถึงคนชาวฮั่นหรือคนเกาหลี และบางครั้งจะใช้ชื่อว่า นัมฮัน (남한) ที่หมายถึง ชาวฮั่นทางใต้ ส่วนชาวเกาหลีเหนือจะเรียกเกาหลีใต้ว่า นัมโชซอน (남조선) ที่หมายถึง โชซอนใต้)

ประวัติศาสตร์
ในประวัติศาสตร์เกาหลี แบ่งเป็นราชอาณาจักรทั้งสาม คือราชอาณาจักรโคกูรยอ อาณาจักรแพ็กเจ และอาณาจักรชิลลา ซึ่งปกครองคาบสมุทรเกาหลีและบางส่วนของจีน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ในช่วงหนึ่งศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช คาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด และดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของสามอาณาจักรราชวงศอี เป็นราชวงศ์สุดท้ายของเกาหลี หลังจากสิ้นสุดรัชสมัยของพระจักรพรรดิซุนจง เกาหลีก็ได้ถูกปกครองโดยญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2453หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเกาหลีต้องแยกเป็นสองประเทศตามข้อตกลงพอตสดัม (Potsdam) ในปี พ.ศ. 2488 โดยใช้เส้นขนาน 38 และเกาหลีใต้ อยู่ในการดูแลโดยสหรัฐอเมริกา ต่อมาจะต้องผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจหลังจากอยู่ภายใต้การดูแลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยเน้นในเศรษฐกิจเป็นสากลยิ่งขึ้น ยุติการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลในธุรกิจเอกชน และให้ความยุติธรรมต่อภาคเอกชนทุกแห่ง และเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ให้อยู่ร่วมอย่างสันติ

การเมืองการปกครอง
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2491 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยเส้นละติจูดที่ 38 องศาเหนือ (มักเรียกว่าเส้นขนาน 38) โดยสหภาพโซเวียตดูแลเกาหลีเหนือมีการปกครองระบอบสังคมนิยม ส่วนสหรัฐอเมริกาดูแลเกาหลีใต้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประมุขของประเทศคือประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ และศาลทำหน้าที่ทางตุลาการ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด และ 6 เขตการปกครอง (โซล ปูซาน อินชอน แตกู กวางจู แตชอน)

รัฐธรรมนูญ
ก่อนที่จะกล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะขอย้อนกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของการใช้ รัฐธรรมนูญของประเทศนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศเพื่อที่จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงการพัฒนา ของกฎหมายสูงสุดของเกาหลีใต้พอสังเขป กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรกประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1948 ภายหลังที่ก่อตั้งประเทศเป็นสาธารณรัฐขึ้นใน วันที่ 15 สิงหาคม ในปีเดียวกัน จากนั้นได้มีการ ปรับปรุงแก้ไข 9 ครั้ง ครั้งสุดท้ายได้กระทำขึ้นในปี ค.ศ. 1987เนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไข ในแต่ละครั้งนั้น เป็นในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของประธานาธิบดี และแบบแผนการเลือกตั้งเป็นหลัก ส่วนการแก้ไขในด้านโครงสร้างของกฎหมายมีไม่มากนักกล่าวโดยย่อรัฐธรรมนูญฉบับแรก กำหนดให้รัฐสภาของสาธารณรัฐเกาหลี เป็นสภาเดี่ยว และเป็นองค์กรทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ขึ้นบริหารประเทศ (Presidential system) การแก้ไขครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1952 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญคือการกำหนดให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการเลือกโดยตรงจากประชาชน และให้มีสองสภา
ในปี ค.ศ. 1954 มีการแก้ไขเป็นครั้งที่สอง โดยได้เพิ่มเติมบทบัญญัติว่า ในกรณีที่ประธานาธิบดีถึงแก่อสัญกรรมหรือไร้ความสามารถ ให้รองประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งแทน ต่อมาในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. 1960 รัฐบาลรักษาการซึ่งปกครองประเทศภายหลังที่ได้เกิดเหตุการณ์ ประท้วงโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดี ซิงมัน รี โดยกลุ่มนักศึกษา ประชาชน และได้รับการ สนับสนุนจากฝ่ายทหาร จนเป็นผลให้นาย ซิงมัน รี ออกไปลี้ภัยยังต่างประเทศ จึงเกิดการแก้ไข รัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่สามโดยให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบรัฐสภา (Parliamentary system) โดยให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ส่วนประธานาธิบดีที่ได้รับเลือก จากประชาชนทำหน้าที่เป็นเพียงประมุขของประเทศ และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระบบรัฐสภาได้รับการนำมาใช้ในช่วงสั้นๆระหว่างเดือน สิงหาคม ค.ศ. 1960 – กรกฎาคม ค.ศ. 1961 เท่านั้น
การแก้ไขครั้งที่สี่มีขึ้นในเดือน ธันวาคม ค.ศ. 1960 โดยได้เพิ่มบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า ให้รัฐสภาออกกฎหมายเพิ่มการลงโทษต่อผู้ที่ทุจริตในการเลือกตั้งและให้ลงโทษต่อผู้ที่รับผิดชอบ ที่สังหารและทำร้ายผู้ที่ทำการประท้วง เรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง อนึ่งมีการกำหนดบทลงโทษ ต่อผู้ต่อต้านการ ปกครองระบอบประชาธิปไตย และต่อข้าราชการที่ทำการคอร์รัปชั่น
การแก้ไขครั้งที่ห้า ได้กระทำขึ้นในยุครัฐบาลทหารรักษาการในปี ค.ศ. 1962 โดยได้กำหนดให้นำ ระบบประธานาธิบดี และการมีสภาเดี่ยว กลับมาใช้ดังเดิม
ในปี ค.ศ. 1969 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่หก เป้าหมายหลักก็คือการขยายวาระของการดำรงตำแหน่ง เป็นประธานาธิบดีออกเป็น 3 วาระ ข้อกำหนดคราวนี้มีผลให้ประธานาธิบดี ปัก จุงฮี สามารถดำรงตำแหน่ง ติดต่อกัน จนวาระที่สามได้
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่เจ็ด ในปี ค.ศ. 1972 ได้เพิ่มข้อกำหนดให้ประธานาธิบดี สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิต นั่นหมายถึงการยกเลิกการกำหนดวาระของการเป็นผู้นำประเทศนั่นเอง ทั้งนี้เพื่อให้นายปัก จุงฮี สามารถดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศตลอดไป อนึ่ง ได้กำหนดให้มีการเลือก ตั้งประธานาธิบดีโดยผ่านทางคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) หรือเรียกว่า เป็นการเลือกทางอ้อม นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดีมากขึ้น เช่น เป็นผู้แต่งตั้งสมาชิก รัฐสภาจำนวนหนึ่งในสามของสภาทั้งหมด สามารถยุบสภาได้ และสามารถประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อสลายกลุ่มหรือบุคคลที่ทำการต่อต้านรัฐบาล
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่แปด กระทำโดยรัฐบาลทหารของนายพลชุน ดูฮวานในเดือน ตุลาคม ค.ศ. 1980 รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงหนึ่งวาระเป็นเวลา 7 ปี และประธานาธิบดี จะได้รับการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้ง หรือเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ดังเช่น รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ เก้า ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้กระทำขึ้นในปี ค.ศ. 1987 โดยนำระบบประธานาธิบดีที่ผู้นำประเทศจะต้องได้รับการเลือกโดยตรงจากประชาชน และให้ดำรง ตำแหน่งเพียงวาระเดียวเป็นเวลา 5 ปี
รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ฉบับปัจจุบันประกอบด้วยคำกล่าวนำ มาตราต่างๆ รวม 130 มาตรา โดยแยกออกเป็น 10 บท และมีภาคผนวกอีกจำนวน 6 บท รัฐธรรมนูญฉบับนี้ชี้ชัดว่า สาธารณรัฐเกาหลี เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยของปวงชน ซึ่งมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันทุกคน
สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้แก่ ความเท่าเทียมกันตามกฎหมายโดยไม่แบ่งแยก ตาม เพศ ศาสนา และ สถานภาพทางสังคม ทุกคนมีอิสรภาพ ในการเคลื่อนย้ายและการเลือกที่อยู่อาศัย มีสิทธิในการออกเสียง และการดำรงตำแหน่งสาธารณะ มีสิทธิในการได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายในกรณีที่ถูกจับกุมหรือกักขัง มีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ในกรณีที่ถูกจับกุมหรือกักขัง มีสิทธิในการขอให้เร่งการทำการสอบสวน มีสิทธิในการปกปิดเรื่องราวในการติดต่อสื่อสาร และเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา การพูด และการชุมนุม นอกเหนือสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเน้นว่า รัฐจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะได้รับสิทธิดังต่อไปนี้คือ สิทธิในการ อาศัยในสภาพ สิ่งแวดล้อมที่สะอาด สิทธิในการได้รับการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาตลอดชีวิต สิทธิในการมีงานทำ สิทธิในการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำและค่าทดแทน สิทธิที่ได้รับการช่วยเหลือ จากรัฐหาก ทุพพลภาพ และสิทธิที่จะได้รับการปกป้องความเป็นส่วนตัว อนึ่ง รัฐธรรมนูญได้ครอบคลุมสิทธิและ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ ดังเช่น สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน สิทธิในการทำงาน อิสระภาพ ในการเลือก งานทำ สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและสามารถเจรจาต่อรองได้
รัฐธรรมนูญของเกาหลีได้จำแนกอำนาจของรัฐออกเป็น 3 ฝ่าย คือ การออกกฎหมายเป็นอำนาจของรัฐสภา การบริหารเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า และการตัดสินคดีความ เป็นอำนาจทางศาล อำนาจแต่ละฝ่ายจะเป็นอิสระต่อกัน สมาชิกรัฐสภาได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน จากนั้นสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เลือกประธานสภา และคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ในรัฐสภา สำหรับตัวประธานาธิบดี นั้นไม่ต้องขออนุมัติรัฐสภาในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง ยกเว้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ประธานาธิบดีเสนอการแต่งตั้งโดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อนึ่ง สำหรับในกรณีของประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลนั้นแม้ว่าจะได้รับการแต่งตั้ง โดยตัวประธานาธิบดี ตามความเห็นชอบจากรัฐสภาก็ตาม แต่รัฐสภาก็มีอำนาจในการให้เสนอชื่อและ ให้คำแนะนำในการแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนั้นๆ อีกทั้งรัฐสภามีอำนาจในการ แต่งตั้งผู้พิพากษาคนอื่นๆด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ในการตัดสินคดีความที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่ในการยุบพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการจัดการข้อพิพาทระหว่าง หน่วยงานของรัฐและระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น (local government) และระหว่าง รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่ง
รัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้สนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรี โดยยึดหลักเศรษฐกิจที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล องค์กรเอกชนสามารถได้รับสัมปทาน การใช้ประโยชน์ในระยะเวลาใด เวลาหนึ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมาย อนึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐจำเป็นต้องคุ้มครองการใช้ประโยชน์ของผู้ถือครองสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ และต้องสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และการพัฒนา ที่เท่าเทียมกันในการใช้ที่ดิน นอกจากนี้รัฐต้องให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเกษตรกรรม การประมง อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และขนาดกลาง การค้าระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์
การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้สองทางคือ ประธานาธิบดีนำเสนอร่างแก้ไข และสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ตัดสินใจยื่นข้อเสนอการแก้ไขภายใน 60 วัน การแก้ไขบทบัญญัติใดจะ กระทำได้ต่อ เมื่อได้รับเสียงสนับสนุนเกินสองในสามของสมาชิกรัฐสภา จากนั้นจะต้องนำข้อแก้ไข ดังกล่าวไปทำประชาพิจารณ์ภายใน 30 วัน ซึ่งจะต้องได้รับการยินยอมไม่น้อยกว่าครึ่ง หนึ่งของผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ที่มีสิทธิออกเสียงเลือก
ประการสุดท้ายมีข้อกำหนดที่น่าสนใจยิ่งก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่จะขอต่อวาระ ของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น จะไม่มีผลต่อตัวประธานาธิบดีที่กำลังดำรงอยู่ในตำแหน่ง ในขณะที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายนิติบัญญัติ
รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภา (National Assembly) เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาของเกาหลีใต้เป็นรูปแบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 299 คน โดยสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่เหลือมาจากการแต่งตั้งโดยจัดสรรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี (ล่าสุดเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2547) สภาจะเลือกประธาน (Speaker) และรองประธาน (Vice-Speaker) จำนวน 2 คน
อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีได้ หากสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เสนอขอและสมาชิกสภาข้างมากเห็นชอบตามเสนอ ซึ่งในกรณีการถอดถอนประธานาธิบดีนั้น ต้องเสนอโดยเสียงข้างมากและสมาชิกสภา 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ



ฝ่ายบริหาร
1. อำนาจหน้าที่ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเป็นต้นมา อาจถือได้ว่าเกาหลีใต้ยึดการปกครองแบบ ประชาธิปไตยในระบบ ประธานาธิบดี (Presidential system) มาโดยตลอด ยกเว้นในช่วงสั้นๆระหว่างเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1960 – กรกฎาคม 1961 ที่เปลี่ยนมาใช้ระบบรัฐสภา (Parliamentary system) เท่านั้น ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ และเป็นตัวแทนของรัฐในการติดต่อสัมพันธ์กับ ต่างประเทศ ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในกรณีที่ประธานาธิบดีเสียชีวิตหรือไม่สามารถปฏิบัติราชการบริหารประเทศได้ นายกรัฐมนตรี หรือสมาชิกในคณะมนตรีแห่งรัฐ (State Council) จะทำหน้าที่แทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งบุคคลคนใหม่ดำรงตำแหน่งแทน
ประธานาธิบดีจะอยู่ในตำแหน่งเพียงหนึ่งวาระเป็นเวลา 5 ปี โดยได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน สาเหตุที่มีการกำหนดวาระของการดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียวนี้เป็นผลมาจากประสบการณ์ในอดีต ทั้งนี้เพราะในระหว่างทศวรรษที่ 1950 – 1970 แห่งคริสต์ศักราชที่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประธานาธิบดีอยู่ในอำนาจได้หลายวาระจนทำให้สาธารณรัฐเกาหลีกลายเป็นรัฐเผด็จการไป
อำนาจและหน้าที่ของประธานาธิบดีเป็นไปตามข้อกำหนด 7 ประการ ดังนี้
1. ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นตัวแทนของประเทศทั้งในระบบ
แห่งรัฐและในความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ประธานาธิบดีเป็นผู้ให้การต้อนรับทูตานุทูตต่างประเทศ มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญเกียรติยศ รวมทั้งเป็นผู้นำในด้านพิธีกรรมและให้อภัยโทษ หน้าที่สำคัญของประธานาธิบดีคือการปกป้องอธิปไตยของชาติให้ธำรงค์ความเป็นเอกราช ศักดิ์ศรีของชาติ และดินแดน อีกทั้งทำหน้าที่สำคัญในการรวมชาติ(กับเกาหลีเหนือ) ด้วยสันติวิธีเพื่อให้บังเกิดความสงบสุขบนคาบสมุทรเกาหลี
1. ในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีจะทำหน้าที่ในการบังคับใช้
กฎหมายที่ได้ผ่านรัฐสภาแล้ว ในขณะเดียวกัน ออกพระราชกำหนด และข้อกำหนดอื่นๆเพื่อให้มีการกระทำตามกฎหมาย ประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มในการเป็นผู้นำคณะกรรมการแห่งรัฐ และกำกับดูแลองค์กรที่ปรึกษาและหน่วยงานระดับสูง ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าหน่วยราชการและหน่วยงานการเมืองระดับสูง
2. ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด มีอำนาจหน้าที่ใน
การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับกองทัพ รวมทั้งมีอำนาจในการประกาศสงคราม
(4) ภายใต้ระบบประธานาธิบดีของเกาหลีในปัจจุบัน ประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมีอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในพรรค และให้คำปรึกษาหารือกับพรรคในการเลือกสรรและแต่งตั้งผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งระดับสูงในฝ่ายบริหาร
(5) ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้ากำหนดนโยบายและเป็นผู้นำในการเสนอร่างกฎหมาย เป็นผู้ชี้แจงกฎหมายที่เสนอเข้าสู่รัฐสภาด้วยตนเอง หรืออาจชี้แจงเป็นข้อเขียนก็ได้ ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภาได้ อนึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภาสามารถยื่นข้อกล่าวหา (impeach) เพื่อถอดถอนประธานาธิบดีได้
(6) ประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มที่ในการจัดการกับภาวะวิกฤต เช่น เกิดความยุ่งเหยิงและการจลาจลภายในประเทศ การคุกคามจากภายนอกประเทศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยประธานาธิบดีสามารถออกพระราชกำหนด หรือ ประกาศภาวะฉุกเฉินให้เป็นผลตามกฎหมายได้เพื่อแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวจะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเปิดประชุมสภาผู้แทน นอกจากนั้นการใช้อำนาจดังกล่าวต้องเป็นไปเพื่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของสังคม จากนั้น ประธานาธิบดีต้องแจ้งแก่รัฐสภาเพื่อความเห็นชอบ หากประธานาธิบดีดำเนินการดังกล่าว คำสั่งเหล่านั้นจะไม่เป็นผลตามกฎหมาย
1. ประธานาธิบดีสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินในกรณีที่เกิดสงคราม เกิดการสู้
รบ หรือเกิดเหตุการณ์วิกฤตใดๆ การประกาศภาวะฉุกเฉินนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย
1. องค์กรในสังกัดสำนักประธานาธิบดี (Presidential agencies)
ในการปฏิบัติภาระหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายบริหารนั้น ประธานาธิบดีจะได้รับการ
ช่วยเหลือด้านบุคลากรและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นตรงต่อตัวเขา องค์กรเหล่านี้ได้แก่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) คณะที่ปรึกษาประชาธิปไตย และการรวมชาติโดยสันติ (Advisory Council on Democratic and Peaceful Unification)
กรรมาธิการวางแผนและงบประมาณ (Planning and Budget Commission) กรรมาธิการด้านกิจการสตรี (Presidential Commission on Women’s Affairs) สภาประธานาธิบดีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลย(Presidential Council on Science and Technology) และ คณะกรรมการประธานาธิบดีด้านธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (Presidential Commission on Small and Medium Business) หัวหน้าของสภากรรมาธิการของแต่ละองค์กรจะมีตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี และทำหน้าที่รับผิดชอบในการตระเตรียมนโยบายให้แก่ประธานาธิบดีในภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเฉพาะขององค์กรแต่ละองค์กร
อนึ่ง นอกเหนือจากสภากรรมาธิการดังกล่าวข้างต้นนั้นแล้วยังมีอยู่อีก 2องค์กรที่ขึ้นโดยตรงต่อ ตัวประธานาธิบดี นั่นคือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และการไต่สวน (Board of Audit and Inspection) และหน่วยงานข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Service) หัวหน้าขององค์กรทั้งสองนี้จะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี อย่างไรก็ตามการแต่งตั้งคณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดินและการไต่สวนนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและการไต่สวนมีอำนาจในการตรวจสอบบัญชีทุกประเภทของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และองค์กรของรัฐ คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจอย่างกว้างขวางในการตรวจสอบการใช้อำนาจผิด ๆ ของข้าราชการที่มีพฤติกรรมมิชอบของเหล่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากนั้นจะต้องส่งรายงานผลการไต่สวนไปยังประธานาธิบดีและรัฐสภา
หน่วยข่าวกรองแห่งชาติมีหน้าที่ในการเก็บข่าวสารข้อมูลทางยุทธศาสตร์ทั้งภายในและภายนอกประเทศอีกทั้งต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายของชาติ

นายกรัฐมนตรี (Prime Minister)
ในประเทศที่มีการปกครองระบบรัฐสภานั้น นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่สำหรับกรณีของเกาหลีใต้ซึ่งใช้ระบบการปกครองแบบประชากรชาตินายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย อันดับที่หนึ่งที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี โดยมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการดำเนินงานของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ในฐานะเป็นหัวหน้าเหล่าข้าราชการทั้งหมด ข้อมูลนับจนถึงเดือน พฤษภาคม ค.ศ. 1998 เกาหลีใต้มีกระทรวงหลัก 17 กระทรวง และหน่วยงานอิสระที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง (หรือเทียบเท่าทบวง) อีก 17 หน่วยงาน
นายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี แต่ไม่มีกฎเกณฑ์หรือระเบียบการใดๆที่วางไว้ว่าบุคคลที่เหมาะสมที่จะเข้าดำรงตำแหน่งนี้ควรจะเป็นเช่นไร ยกเว้นการเสนอการแต่งตั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
องค์กร/หน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ สำนักงานประสานงานนโยบายของรัฐ (Office for Government Policy Coordination); กรรมาธิการการค้าเสรี (Fair Trade Commision); กระทรวงยุติธรรม (Ministry of Justice); สำนักงานสารนิเทศ (Office of Public Information); คณะกรรมการวางแผนภาวะฉุกเฉิน (Emergency Planning Committee ); และองค์การการบริหารผู้รักชาติ และทหารผ่านศึก (Patriots and Veterans Administration Agency)
นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการกำหนดนโยบายสำคัญๆของชาติ และเข้าร่วมประชุมรัฐสภา อนึ่ง นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารงานในงานแทนประธานาธิบดีเมื่อได้รับมอบหมาย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการเสนอให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งหรือถอดถอนรัฐมนตรี หรือสมาชิกคณะมนตรีแห่งชาติ

คณะมนตรีแห่งรัฐ (State Council)
ในการตัดสินและการแก้ไขปัญหาของชาติอยู่ที่การปรึกษาหารือ อย่างรอบคอบ
จากคณะมนตรีแห่งรัฐโดยจะใช้ฉันทามติในการกำหนดนโยบาย และกิจกรรมต่างๆของประเทศ คณะมนตรีแห่งรัฐนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับ คณะรัฐมนตรี ดังเช่นของประเทศไทย คณะมนตรีแห่งรัฐนี้ปกครองด้วยสมาชิก ดังนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีราว 15-30 คน ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเป็นประธาน และนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน เมื่อคณะมนตรีแห่งรัฐได้สรุปและให้ความเห็นชอบในเรื่องต่าง ๆ แล้ว ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้ายก่อนประกาศใช้ ปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2000) คณะมนตรีแห่งรัฐประกอบด้วย ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ 17 คน รวมเป็น 19 คน
การที่คณะมนตรีแห่งรัฐ ประชุมร่วมกันเพื่อไตร่ตรองนโยบายหลักของชาติ และนำเสนอให้ประธานาธิบดีเพื่อตัดสินใจขั้นสุดท้าย อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คณะมนตรีแห่งรัฐเป็นเสมือนที่ปรึกษาของ ประธานาธิบดีนั่นเอง ทั้งนี้เพราะภาระหน้าที่ของคณะมนตรีแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญนั้น มิใช่เป็นองค์กรทำหน้าที่ตัดสินใจดังปรากฎในมาตรา 89 ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า คณะมนตรีแห่งชาติจะให้คำปรึกษาแก่ประธานาธิบดีในเรื่อง ดังต่อไปนี้
-แผนพัฒนาประเทศและนโยบายทั่วไปของกระทรวง ทบวง กรม
-การประกาศสงคราม การทำสนธิสัญญาสันติภาพ และเรื่องกิจการต่างประเทศ
-ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างข้อเสนอกิจการต่างๆแห่งชาติ ร่างสนธิสัญญา ร่างกฎหมาย และร่างพระราชกำหนด
-ร่างงบประมาณแผ่นดิน การปิดงบประมาณ แผนการยกเลิกทรัพย์สินของรัฐ การทำพันธะสัญญาในเรื่องการเงิน การคลัง ของรัฐ
-คำสั่งประธานาธิบดีในภาวะวิกฤต ข้อปฏิบัติในวิกฤตการณ์ทางการคลัง และเศรษฐกิจของประเทศ และการประกาศใช้หรือยุติการใช้ภาวะฉุกเฉิน
-กิจการทางการทหารที่สำคัญ
-การขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยพิเศษ
-การมอบเหรียญรางวัลเกียรติยศ
-การอภัยโทษ
-การปรับโครงสร้างการบริหารงาน ของแต่ละกระทรวง
-แผนการทั่วไปเกี่ยวกับการจัดสรรอำนาจของฝ่ายบริหาร
-การประเมินและวิเคราะห์ความก้าวหน้าในนโยบายที่สำคัญของรัฐ
-การกำหนดนโยบายและความร่วมมือของแต่ละกระทรวง
-คำสั่งการยุบพรรคการเมือง
-พิจารณาคำร้องและส่งคำร้องต่อฝ่ายบริหารในเรื่องนโยบายของรัฐบาล
-แต่งตั้งอัยการสูงสุด อธิการบดีมหาวิทยาลัย เอกอัครราชทูต ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และข้าราชการ รวมทั้งผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจที่ได้รวมไว้ในกฎหมาย
-กิจการอื่นใดที่ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และสมาชิกของคณะมนตรีแห่งรัฐเสนอให้พิจารณา

ฝ่ายตุลาการ
อำนาจตุลาการเป็นเรื่องของศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นอำนาจอิสระจากฝ่ายบริหาร ระบบศาลของเกาหลีมี 3 ระดับ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น (district courts) อนึ่ง ระบบตุลาการของประเทศนี้จำแนกออกเป็น ศาลครอบครัว ศาลปกครอง (administrative court) และศาลทรัพย์สินทางปัญญา (patent court) ศาลเหล่านี้จะพิจารณาคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง คดีการเลือกตั้ง และคดีความต่างๆที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่จัดการ และให้คำปรึกษา เรื่องราวเกี่ยวกับการจดทะเบียนธุรกิจบ้านจัดสรร ทะเบียนประชากร การรับฝากเงิน และการทำสัญญาค้ำประกัน



องค์กรทางตุลาการ



ศาลฎีกา
ศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ตั้งอยู่ที่กรุงโซล ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา
และผู้พิพากษา จำนวน 13 คน ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกา อาจจะมีการร่วมพิจารณาคดีกันทั้งคณะ หรือแยกออกเป็นคณะเล็กที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาคณะละ 4 คนศาลฎีกาทำหน้าที่ในการพิจารณาคดี ที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลสูง (high court) ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น รวมทั้งตัดสิน เพื่อรับรองผลการเลือกตั้งทั่วไป และการเลือกตั้งประธานาธิบดี อีกทั้ง มีอำนาจในการตรวจสอบ ขั้นสุดท้ายทางด้านกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา กฎระเบียบ หรือข้อกำหนดในการบริหารราชการต่างๆ
ศาลฎีกาสามารถออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระเบียบการภายในของศาลฎีกา ได้แก่แนวการบริหารของศาล และกระบวนการพิจารณาคดีความ ในการยื่นคดีต่อศาลฎีกาให้พิจารณาคดีนั้น จะต้องมีหลักฐานแน่ชัด ตรงตามแนวปฏิบัติ กล่าวคือ สำหรับคดีแพ่งต้องมีข้อกำหนดทางกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ศาล ชั้นต้นสามารถตัดสินความในระดับหนึ่งก่อน ส่วนคดีอาญานั้น การที่จะยื่นคดีต่อศาลฎีกาได้ก็ต่อเมื่อเป็นคดี ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือต่อกฎหมาย เช่น เรื่องการทำแท้ง (abolition) หรือการกลับคำพิพากษาตัดสินลงโทษ ที่มีการรวบรวมหลักฐานผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด หรือเป็นกรณีที่ถูกลงโทษจำคุกที่ไม่สมเหตุสมผล
เพื่อที่จะช่วยให้ผู้พิพากษาทำงานในคดีความที่มีออกมากมายมหาศาลนั้น ผู้พิพากษานักวิจัย (research judges) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้พิพากษาสูงจะศึกษาคดีและวินิจฉัยเบื้องต้นก่อน โดยผู้พิพากษาวิจัยกลุ่มละ 2 คน ทำงานในแต่ละคดี ปัจจุบัน ผู้พิพากษานักวิจัยดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 20 – 30 คน
ศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ประกอบด้วยประธานผู้พิพากษา และผู้พิพากษาร่วมอีก 3 คน ทำ หน้าที่ในการ พิจารณาคดี ที่ได้รับการ อุทธรณ์ภายหลังที่ได้รับการตัดสินจากศาลชั้นต้นและศาลครอบครัว ทั้งที่เป็นคดีแพ่งและคดีอาญา คดีการปกครอง หรือคดีอื่นใดที่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ในเกาหลีใต้มี 5 แห่ง ตั้งอยู่ที่กรุงโซล เตกู กวางจู ปูซานและเตจอน ในการพิจารณาคดีนั้น ศาลอุทธรณ์จะรื้อฟื้นการพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง ซึ่งคำตัดสินอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของศาลชั้นต้นก็ได้
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์เท่านั้นที่สามารถตัดสินคดีความที่บุคคลหรือองค์กร ทำการฟ้องร้องในผลการตัดสิน หรือคำสั่งของหน่วยงานราชการ หรือฟ้องร้องในเรื่องการถูกถอดถอนให้ออกจากตำแหน่งได้
ศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นทำหน้าที่ในการพิจารณาตัดสินคดีทั่วไปแทบทุกคดี ปัจจุบัน ศาลชั้นต้นตั้งอยู่ที่กรุงโซล และในเมืองหลักอีก 12 เมือง ศาลชั้นต้นในกรุงโซลแบ่งออกเป็น 2 ศาล คือ ศาลแพ่งแห่งกรุงโซล และศาลอาญาแห่งกรุงโซล
ตามปกติ ในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นนั้น จะมีผู้พิพากษา 1 คน ทำหน้าที่ดังกล่าว ยกเว้นเป็นคดีร้ายแรง เช่น คดีแพ่งที่มีมูลค่าทรัพย์สินตั้งแต่ 50 ล้านวอน (37,000 เหรียญสหรัฐ) ขึ้นไป หรือคดีอาญาที่จะต้อง ตัดสินให้ผู้ต้องหาต้องโทษประหารถึงชีวิตที่จะมีคณะผู้พิพาษาพิจารณาคดีร่วมหลายคน
ศาลชั้นต้นมีสาขาศาล หรือเรียกว่า ศาลชั้นต้นสาขาย่อย ที่ให้ผู้พิพากษาพิจารณาคดี 1 คน ซึ่งมีอยู่จำนวน 42 แห่ง และมีศาลเทศบาลอีก 105 แห่ง (นับจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 1998) เป้าหมายของศาลชั้นต้นสาขาย่อยก็คือ ดำเนินการพิจารณาคดีเช่นเดียวกับงานของศาลชั้นต้นทั่วไป ส่วนศาลเทศบาลทำหน้าที่บริการ ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ศาลชั้นต้นสาขาย่อยและศาลเทศบาลทำหน้าที่ใน การตัดสินคดีความเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การทะเลาะวิวาท การหย่าร้าง หรือคดีที่มีการยอมความกันได้
ศาลครอบครัว
ศาลครอบครัวทำหน้าที่พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน คดีเยาวชน หรือคดีในครอบครัวศาลครอบครัว จะไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้ารับฟังเพราะต้องการสงวนคดีความที่เป็นเรื่องส่วนตัวปัจจุบัน ศาลครอบครัวตั้งอยู่ ในกรุงโซลแห่งเดียว ส่วนท้องที่อื่นจะให้ศาลชั้นต้นทำหน้าที่แทน
ศาลปกครอง (administrative court)
ศาลปกครองเปิดทำการครั้งแรกที่กรุงโซล ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1998 เพื่อพิจารณาคดีเรื่องราวเกี่ยว กับการปกครองเท่านั้น ศาลชั้นต้นที่ตั้งอยู่นอกกรุงโซลจะทำหน้าที่พิจารณาคดีเรื่องการปกครอง
ศาลสิทธิบัตร (Patent court)
ศาลสิทธิบัตรเริ่มเปิดครั้งแรกในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1998 ที่เมือง เตจอน ทำหน้าที่ในการพิจารณา ข้อพิพาทด้าน สิทธิบัตร ที่ได้รับการส่งขึ้นมาจากงานสิทธิบัตร หรือเป็นตัวกลางในการพิจารณาเรื่อง นี้ก่อนที่จะส่งต่อให้ศาลฎีกาเพื่อตัดสินขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ศาลชั้นต้นทั่วไปก็สามารถ พิจารณาคดีข้อพิพาทด้านสิทธิบัตรได้เช่นกัน
ศาลทหาร (Courts – martial)
ศาลทหารทำหน้าที่พิจารณาตีความของทหารและข้าราชการพลเรือนที่ทำงานในกองทัพที่กระทำผิด เช่น คดีความผิดฐานกบฏ การหนีทหาร การไม่เชื่อฟังคำสั่ง หรือการกระทำผิดทางอาญา ส่วนพลเรือนที่ต้องขึ้นศาล ทหารต่อเมื่อกระทำผิดในเรื่องการจารกรรมทางทหาร การเข้าไปแทรกแซงกิจการของทหาร หรือคดีที่ได้ระบุไว้ใน กฎหมายอย่างชัดแจ้ง
คุณสมบัติและการแต่งตั้งผู้พิพากษา
ประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาศาลฎีกาจะต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีประสบการณ์ในหน้าที่ผู้พิพากษา อัยการ หรือนักกฎหมายมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี ส่วนผู้พิพากษาในศาลอื่นๆ จะต้องสอบผ่านเนติบัณฑิต (Judicial Civil Service Examination) และได้รับการอบรมที่ สถาบันวิจัยตุลาการ (Judicial Research and Training Institute) เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี รวมทั้งต้องเข้ารับตำแหน่งทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาทดลอง (probationary judge) เป็นเวลา 2 ปีอีกด้วย หรือจะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอัยการ หรือเป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญ (qualified prosecutor / lawyer)
ประธานศาลฎีกาได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีตามความเห็นชอบของรัฐสภา ส่วนผู้พิพากษาศาล ฎีกาท่านอื่นๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โดยการเสนอของผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาศาลที่ต่ำลง มาได้รับการแต่งตั้งจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาล
วาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับ 6 ปี แล้วจะไม่ได้รับการแต่งตั้งซ้ำอีก อนึ่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจะต้องออกจาก ตำแหน่งเมื่ออายุได้ 70 ปี ส่วนวาระการดำรงตำแหน่งของคณะเท่ากับ 6 ปีเท่ากัน และอาจได้รับตำแหน่ง ต่อไปอีกภายใต้ระเบียบ ของกฎหมายที่กำหนด แต่จะต้องออกจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 65 ปี ส่วนอายุเกษียน ข้าราชการของผู้พิพากษาอื่นๆ เท่ากับ 63 ปี
การค้ำประกันสถานภาพ เพื่อให้สามารถตัดสินคดีความได้อย่างเป็นอิสระ ผู้พิพากษาได้รับการคุ้มครอง การทำงานจากรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาจะไม่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง เว้นแต่จะถูกไต่สวนถอดถอน (impeachment) หรือกระทำผิดทางอาญา ในขณะเดียวกัน ผู้พิพากษาจะไม่ถูกให้สำรองราชการ หรือลดเงินเดือน เว้นแต่จะได้รับการตัดสินจากอนุญาโตตุลาการ
การบริหารงานของฝ่ายตุลาการ
ศาลฎีกามีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานด้านตุลาการอย่างกว้างขวาง ประธานศาลฎีกาจะรับผิดชอบ ต่องานบริหารของศาลทุกประเภท และจะเขียนคำร้องไปยังรัฐสภาเพื่อ ให้ออกเป็นกฎหมาย หากเห็นว่ามีความจำเป็น งานบริหารของฝ่ายตุลาการอาจจำแนกได้ดังนี้
คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ประกอบด้วยผู้พิพากษา 14 คน และมีประธานศาลฎีกาเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือเพื่อแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลในระดับต่ำลงมา สร้างกฎระเบียบของศาลฎีกา พิจารณาการแปรงบประมาณ หรือข้อกำหนดอื่นใด รวมทั้งเรื่องราวที่สำคัญๆ
กระทรวงการบริหารงานตุลาการ (Ministry of Court Administration) กระทรวงยุติธรรมจะ ทำหน้าที่ในการดำเนินงานทางด้านธุรการในศาลตามมติของคณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลฎีกาจะเป็น ผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีของกระทรวงนี้ โดยเลือกจากผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ กระทรวงนี้แบ่งงานออก เป็นสำนักวางแผน สำนักการวิจัยนโยบายตุลาการ สำนักบริหารบุคคล และ 4 กรม (Litigation, Property and Family Registry, Court Construction, General Affairs) รวมทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยทางตุลาการ และฝึกอบรม (Judicial Research and Training Institution) เป็นสถาบันเดียวที่ให้การศึกษา (the bench) และเนติบัณฑิต (the bar) ในเกาหลี โดยให้ความ รู้ทางทฤษฎีและการฝึกหัดแก่ผู้ฝึกหัด ที่ผ่านข้อสอบเนติบัณฑิต (Judicial Civil Service Examination) แล้ว สถาบันแห่งนี้มีหลักสูตร 2 ปี ในการฝึกอบรมผู้ที่จะก้าวขึ้นเป็นนักกฎหมายอาชีพ ในขณะเดียวกัน สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งให้ผู้พิพากษาใช้เป็นสถานที่เพิ่มพูนความรู้และทำการว่าจ้างทางด้านกฎหมายอีกด้วย
สำนักงานอัยการสูงสุด (Supreme Public Prosecutor’s Office)
สำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ภายใต้การบริหารงานของกระทรวงยุติธรรม เป็นองค์กรทำหน้าที่ ทางด้านฝ่ายกฎหมายแก่ส่วนราชการ อัยการมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนการกระทำ ผิดกฎหมาย และใช้กฎหมายกับบุคคลที่กระทำผิด อีกทั้งให้คำแนะนำทางด้านกฎหมายแก่ตำรวจ
อัยการสูงสุดได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี โดยเลือกผู้ที่มีประสพการณ์ในการทำงานเป็นอัยการมาก่อน หรือเป็นผู้พิพากษา หรือทนาย ซึ่งได้ทำงานด้านดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี ส่วนอัยการคนอื่นๆจะ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พรรคการเมือง
เมื่อ ธันวาคม พ.ศ. 2538 เกิดการรวมตัวของ 3 พรรคใหญ่ คือ
1. พรรค Democratic Justice Party-DJP
2. พรรค Reunification Democratic Party-RDP และ
3. พรรค New Democratic Republican Party-NDRP และตั้งชื่อว่าพรรค New Korean Party-NKP
ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ ธ.ค. 2540 ได้เกิดพรรคใหม่คือ
1. พรรค Grand National Party -GNP (ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรค NKP กับพรรค New Party by the People)
2. พรรค Millennium Democratic Party-MDP ซึ่งมีนาย คิม แด จุง เป็นหัวหน้าพรรค และ
3. พรรค United Liberal Democrats-ULD ซึ่งมีนาย คิม จอง พิล เป็นหัวหน้าพรรค
โดยพรรค MDP กับพรรค ULD ได้ร่วมกันส่งนายคิม แด จุง เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้รับชัยชนะ โดยนาย คิม จอง พิล ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาพรรค ULD ได้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ปัจจุบันมีพรรคฝ่ายค้าน (Grand National Party-GNP) และพรรครัฐบาล (Millennium Democratic Party-MDP) และพรรคฝ่ายค้านเสียงส่วนน้อย (United Liberal Democrats-ULD) ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้าน GNP สามารถคุมเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภารวม 139 ที่นั่ง ทั้งนี้เมื่อ 15 เม.ย. 2547 มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้สมัยที่ 17 โดยเป็นการเลือกสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น 299 ที่นั่งประกอบด้วยการเลือกตั้งโดยตรง 243 ที่นั่ง และจากสัดส่วนพรรค (party list) 56 ที่นั่ง ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการพรรค Uri ได้คะแนนเสียงข้างมากส่งผลให้พรรค Uri กลายเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม พรรค Uri ได้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม 6 ครั้งในเดือนเมษายน 2548 ทำให้พรรค Uri ไม่ได้ครองเสียงข้างมากในสภาอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้แพ้ในการเลือกตั้งซ่อมในเดือนตุลาคม 2548 อีก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมีปัญหามากขึ้น
รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐเกาหลี มาตรา 8 กำหนดบทบาทและหน้าที่ของพรรคการเมือง ในประเทศว่า“พรรคการเมืองเป็นการรวม ตัวกันอย่างเป็นอิสระ และอาจมีพรรคหลายพรรคได้ จุดมุ่งหมายการจัดองค์กรและกิจกรรมของพรรคการเมืองหนึ่งๆ จะต้องเป็นประชาธิปไตย พรรคการเมืองจะเป็นองค์กรที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม อันเป็นกระบวนการรวบรวมความคิดเห็น ทางการเมืองของประชาชน” รัฐธรรมนูญยังเน้นว่า“พรรคการเมืองจะได้รับการปกป้องจากรัฐตาม กฎหมาย” ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในเรื่องกฎหมายพรรคการเมือง โดยกฎหมายในเรื่องนี้เน้นถึงการปกป้อง ในการดำเนินกิจกรรมและกระบวนการขององค์กร ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องสร้างสรรค์การ พัฒนาการ เมืองในระบบประชาธิปไตย ดังนั้น พรรคการเมืองจะมีอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเสรี
กฎหมายดังกล่าวยังได้กล่าวต่อไปว่า พรรคการเมืองเป็นองค์กรของประชาชนที่มีเป้าหมาย ให้ประชาชนแสดงออก ด้านความคิดเห็นทางการเมือง ดังนั้น เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว พรรคการเมืองจะต้องรับผิดชอบในการร่วมนำ สนอความคิดเห็น และทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน พรรคการเมืองเป็นองค์กรเอกชน ทำหน้าที่ดำเนินเกี่ยวกับเรื่องราวทางการเมือง โดยกฎหมายพรรคการเมืองได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง การดำเนินงาน และการจัดองค์กรของพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง
เงินอุดหนุนพรรคการเมือง
เนื่องจากพรรคการเมืองต้องจัดหาและบริหารเงินเป็นจำนวนมากในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้น จึงมีกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนทางการเมืองขึ้นเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถหาเงินเข้าพรรคด้วยการจัดเก็บค่าสมาชิกพรรค การบริจาคของคณะกรรมการสนับสนุน และเงินช่วยเหลืออื่นๆ
ดังที่กล่าวแล้วว่า รายได้ของพรรคการเมืองที่มาจากการเก็บค่าสมาชิกพรรค และการบริจาคจากบริษัทขนาดใหญ่ องค์กร และปัจเจกบุคคลนั้น เป็นรายได้ที่มักจะไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลที่แต่ละพรรคจะต้องใช้ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรายรับ-รายจ่าย ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้พรรคการเมืองกับบริษัทขนาด ใหญ่ต่างมีพันธะสัญญาในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจ อันเป็นการคอร์รัปชั่นทางการเมืองของชาติเป็นส่วนรวม อาจกล่าวได้ว่าปัญหา นี้เป็นปัญหาในสังคมเกาหลีตลอดมา
ดังนั้น เพื่อที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไป กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราที่ 8 ได้กำหนดไว้ว่า“รัฐควรให้ความช่วยเหลือ ที่จำเป็นในการดำเนินงานของพรรคการเมือง ดังที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” แต่ความช่วยเหลือดังกล่าว จะมอบให้แก่พรรคการเมืองที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย กล่าวคือ
เงินสนับสนุนพรรคการเมืองคิดคำนวณจากเงิน 800 วอน คูณด้วยเสียงที่พรรคการเมือง ได้รับเลือก ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย เงินสนับสนุนนี้จะนำมาบวกรวมกันภายหลังที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี การเลือกตั้งทั่วไป และการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อรวมเป็นเงินสนับสนุน
เงินสนับสนุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เงินสนับสนุนพื้นฐาน และเงินสนับสนุนตามสัดส่วน เงินสนับสนุน พื้นฐานจำนวนร้อยละ 50 ของเงินทั้งหมดมอบให้แก่พรรคที่ได้รับเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 20 คนหรือ มากกว่านี้ขึ้นไป ส่วนพรรคที่ได้รับเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 5 – 19 คน จะได้รับร้อยละ 5 ส่วนพรรค ที่ได้รับเลือกน้อยกว่า 5 ที่นั่งจะได้รับร้อยละ 2ส่วนเงินที่เหลือจะมอบให้แก่พรรคตาม สัดส่วนที่นั่งที่แต่ละ พรรคได้รับเลือกในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุด
พรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมี “คณะกรรมการสนับสนุน”(Support Committee) ทำหน้าที่ในการหาทุนเข้าพรรค คณะกรรมการสนับสนุนนี้จะประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา และคณะกรรมการ กลางของพรรค กรรมการระดับจังหวัด ระดับเมือง และระดับท้องถิ่น ซึ่งจะต้องลงทะเบียนต่อคณะ กรรมการจัดการการเลือกตั้ง
ปัจเจกบุคคลและบริษัทต่างๆ สามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสนับสนุนได้ตามความสมัครใจ และจะ ออกเงินของตนเองในการสนับสนุน หรือเรียกเก็บเงินจากคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการ ให้แก่พรรคการเมือง หรือผู้สมัครคนใดคนหนึ่งก็ได้ อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดยอดเงินสูงสุดของการบริจาค กล่าวคือ ในปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง คณะกรรมการสนับสนุนกลางสามารถเรี่ยไรเงินบริจาคเข้าพรรคได้ไม่เกิน 20 พันล้านวอน (ราว 1,000 ล้านบาท) คณะกรรมการสนับสนุนระดับมหานคร หรือจังหวัด จะเรี่ยไรได้ไม่เกิน 2 พันล้านวอน ส่วนคณะกรรมการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หรือผู้สมัคร เป็นสมาชิกรัฐสภาคนละ 300 ล้านวอน หากปีใดเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง คณะกรรมการแต่ละระดับจะสามารถ รับเงินบริจาคเข้าพรรคได้ไม่เกิน 2 เท่า ของปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง
องค์กรของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (National Election Commission – ก.ก.ต.)ก.ก.ต.
เป็นองค์กรอิสระสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการจัดการให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสบริสุทธิ์ ยุติธรรม ทำหน้าที่ในการจัดหาประชามติแห่งชาติ และทำงานเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้งมีวาระในการทำงาน 6 ปี และจะต้องไม่สังกัดหรือร่วมกิจกรรมของพรรคการเมืองใด กรรมการดังกล่าวจะไม่ถูกให้ออกจากตำแหน่ง ยกเว้นได้รับการฟ้องร้องให้ถอดถอน (impeached) หรือถูกจำคุก หรือต้องคดีอุกฉกรรจ์ได้รับโทษจากศาล
คณะกรรมการ ก.ก.ต. จะประชุมกันได้เมื่อมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมเกินกึ่งหนึ่งของคณะ และทำหน้าที่ตัดสินปัญหา ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม ประธาน ก.ก.ต. มีสิทธิ์ออกเสียงและ มีสิทธิ์ออกเสียงให้ข้าง ใดข้างหนึ่งชนะ หากมีคะแนนก้ำกึ่งกัน
คณะกรรมการ ก.ก.ต. ส่วนกลางประกอบด้วย สมาชิก 9 คน โดยได้รับแต่งตั้งจาก 3 ฝ่าย ฝ่ายละเท่าๆกัน คือประธานาธิบดี แต่งตั้ง 3 คน ฝ่ายตุลาการ 3 คน และรัฐสภา 3 คน
หน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ก.ก.ต. ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งการเลือกตั้งอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
-การเลือกตั้งประธานาธิบดี
-การเลือกตั้งทั่วไป (เลือกสมาชิกรัฐสภา)
-เลือกตั้งผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น (เช่น นายกเทศมนตรีมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีเมือง และนายกเทศมนตรีเทศบาลอำเภอ)
-เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น (เช่น สมาชิกเทศบาลมหานคร สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาลเมือง และเทศบาลอำเภอ)
-เลือกตั้งกรรมการตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ
-วิจัยเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง
ก.ก.ต. ทำหน้าที่ในการดำเนินการจัดทำประชามติที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรม นูญ ในเรื่องความสัมพันธระหว่างประเทศ ในเรื่องการป้องกันประเทศ ในเรื่องการรวมชาติ และในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของพรรค รวมทั้งจัดการทางด้านการเงินสนับสนุนต่อกรรมการการเมือง
อนึ่ง ก.ก.ต. จะทำหน้าที่ดำเนินการการส่งเสริมการเมืองตลอดทั้งปี โดยชี้ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบกิจการ จัดระบบการเมืองที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย ด้วยการจัดให้มีการปาฐกถาตามแหล่งชุมชน โรงเรียน และจัดสัมมนาถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง อีกทั้งให้ความรู้แก่ยุวชนที่เป็นผู้เลือกตั้งครั้งแรก เป็นต้น
ก.ก.ต. เน้นให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ทั้งที่เป็นเรื่องการใช้สิทธิ์ และการลงคะแนนเสียง อีกทั้งยังเน้นถึงการตรวจสอบวิธีการรณรงค์หาเสียงให้เป็นไปตามกฎหมาย ก.ก.ต. แสวงหาแนวทาง ป้องกันการหาเสียงที่ผิดกฎหมาย ทั้งในส่วนของพรรคการเมืองและของผู้สมัครแต่ละคน หากความผิดปกติเกิดขึ้น ก.ก.ต. จะรีบเข้าไปตรวจสอบโดยทันที
สถาบันการจัดการการเลือกตั้ง (Election Management Institute) ของ ก.ก.ต. ทำหน้าที่ในการให้ความรู้แก่ ลูกจ้าง คนงาน ทุกระดับ รวมทั้งข้าราชการ ผู้ทำงานด้านการเลือกตั้ง และสมาชิก ผู้ทำงานเกี่ยวกับการเมืองที่ทำงานด้านการ เลือกตั้งทุกฝ่าย ตลอดจนแก่พรรคการเมือง รวมทั้งทำหน้าที่บริหารจัดการ และจ่ายเงินอุดหนุนทางการเมืองอีกด้วยก.ก.ต. ทำหน้าที่ในการเสนอร่างกฎหมาย และเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การทำประชามติ และกฎหมาย พรรคการเมืองเพื่อนำขึ้นพิจารณาในรัฐบาลเมื่อเห็นว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
จักรพรรดิและราชวงศ์
เกาหลีได้มีการฟื้นฟูราชวงศ์อีกครั้งในปี พ.ศ. 2549 โดยเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน แต่ไม่ได้เป็นประมุข เพราะเกาหลีมีประธานาธิบดีอยู่แล้ว จักรพรรดิจึงมีไว้เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีต่างๆ และพิธีทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้ทรงเป็นประมุขหรือสัญลักษณ์ของประเทศแต่อย่างไร โดยเกาหลีมีจักพรรดิซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจมาตั้งแต่ตอนเป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่น จนกระทั่งการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายกู จักรพรรดิองค์ก่อน และยังไม่มีผู้สืบทอดจึงทำให้ราชวงศ์สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2548 แต่ได้ถูกฟื้นฟูในปี พ.ศ. 2549 โดย เจ้าหญิงเฮวอน จักรพรรดินีองค์ปัจจุบัน






เจ้าหญิงเฮวอน





เจ้าหญิง ลี เฮวอน แห่งเกาหลี (이해원, , ฮันจา: 李海瑗, , MC: I Haeweon, , MR: I Haewŏn ) ทรงเป็นสมาชิกในราชวงศ์ลีแห่งเกาหลี ก่อนที่จะถูกล้มล้างไปในช่วงที่ญี่ปุ่นบุกคาบสมุทรเกาหลี เมื่อปี ค.ศ. 1910 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ประสูติ พระองค์ทรงเป็นพระธิดาพระองค์ที่ 2 ใน เจ้าชายกัง พระราชโอรสพระองค์ที่ 5 ใน สมเด็จพระจักรพรรดิโกจง จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งเกาหลี และยังทรงดำรงฐานะเป็น ประมุขแห่ง ราชตระกูลจักรพรรดิเกาหลี (Korean Imperial Household)
พระประวัติเจ้าหญิงลี ประสูติที่ ในปี พ.ศ. 2462 พระราชวังซาดอง กรุงโซล และ ทรงเจริญวัยในพระราชวังอุนเฮอง พระองค์ทรงเษกสมรสกับ ลี ซุงยู ซึ่งต่อมาถูกเกาหลีเหนือลักพาตัวไปในช่วงสงครามเกาหลี ทรงมีพระโอรส 3 พระองค์ และ พระธิดาอีก 1 พระองค์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549 เจ้าหญิงลี ได้ทรงทำพิธีขึ้นครองราชย์ในฐานะประมุขแห่งราชตระกูลจักรพรรดิเกาหลี พระองค์ทรงใช้คำเรียกพระองค์ว่า จักรพรรดินีแห่งเกาหลี และทรงประกาศถึงการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ในประเทศเกาหลีใต้ โดยรัฐบาลกลางเกาหลีมิได้เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือรับรองแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สำนักโพลในประเทศเกาหลีใต้ได้สำรวจแล้วว่า 54.4% สนับสนุนการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ โดยให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหญิงวอนก็ทรงมีศักดิ์เป็นจักรพรรดินีอย่างถูกต้องตามธรรมเนียม พิธีการ และพฤตินัย เนื่องจากเป็นผู้สืบทอดของเจ้าชายกู พระจักรพรรดิองค์ก่อน ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2548 เพียงแต่ทรงขาดสถานะการเป็นประมุข ทำให้ทรงเป็นจักรพรรดิแต่มิได้เป็นประมุขของประเทศ

การแบ่งเขตการปกครอง

ประเทศเกาหลีใต้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 จังหวัด (provinces) 1 จังหวัดปกครองตนเองพิเศษ (special autonomous province) 6 มหานคร (metropolitan cities) และ 1 นครพิเศษ (special city)

นครพิเศษ

1. โซล/ซออุล (Seoul Teukbyeolsi: โซล ทึกบยอลชี; 서울 특별시; 서울特別市)

มหานคร
1. ปูซาน/พูซาน (Busan Gwangyeoksi: 'พูซาน กวางยอกชี; 부산 광역시; 釜山廣域市)
2. แทกู (Daegu Gwangyeoksi: แทกู กวางยอกชิ; 대구 광역시; 大邱廣域市)
3. อินชอน (Incheon Gwangyeoksi: อินชอน กวางยอกชิ; 인천 광역시; 仁川廣域市)
4. กวางจ/ควางจู (Gwangju Gwangyeoksi: ควางจู กวางยอกชิ; 광주 광역시; 光州廣域市)
5. แทจอน (Daejeon Gwangyeoksi: แทจอน กวางยอกชิ; 대전 광역시; 大田廣域市)
6. อุลซาน (Ulsan Gwangyeoksi: อุลซาน กวางยอกชิ; 울산 광역시; 蔚山廣域市)
จังหวัด
1. คยองกี (Gyeonggi-do: คยองกี-โด; 경기도; 京畿道)
2. คังวอน (Gangwon-do: คังวอน-โด; 강원도; 江原道)
3. คยองซาบุก (Gyeongsangbuk-do: คยองซาบุกโด; 경상 북도; 慶尚北道)
4. คยองซานัม (Gyeongsangnam-do: คยองซานัม-โด; 경상 남도; 慶尚南道)
5. ชอลลานัม (Jeollanam-do: ชอลลานัม-โด; 전라 남도; 全羅南道)
6. ชอลลาบุก (Jeollabuk-do: ชอลลาบุก-โด; 전라 북도; 全羅北道)
7. ชุงชองบุก (Chungcheongbuk-do: ชุงชองบุกโด; 충청 북도; 忠清北道)
8. ชุงชองนัม (Chungcheongnam-do: ชุงชองนัม-โด; 충청 남도; 忠清南道)

จังหวัดปกครองตนเองพิเศษ

เชจู (Jeju: เชจู; 제주특별자치도; 濟州特別自治道)

10 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เกาหลี เป็นประเทศที่น่าอยู่จัง เมื่อเทียบกับประเทศไทยในตอนนี้

เค้ามีการยกตัวอย่าง ด้านดีๆของประเทศเค้า อย่างเช่น ด้านการท่องเที่ยว

ก็มีการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึง ความสวยงามของธรรมชาติบ้านเค้า

ถือเป็นการเผยแพร่ ที่ดีมาก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวนับล้าน ให้ไปเยี่ยมชมประเทศของเค้าได้



แล้วทำไม ประเทศไทยเราไม่แสดงออกถึงวัฒนธรรมที่ดีงามของเราให้โลกรู้บ้าง?

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ประเทศเกาหลีน่าสนใจมากกว่าที่คิดเลย
แถมยังเป็นประเทศที่มีการแยกออกมาเป็นเอกราชอีกด้วย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ประเทศเกาหลี โดยเฉพาะเกาหลีใต้


มักมีการประชาสัมพันธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง


และเผยแพร่ในรุปแบบของ ละคร โทรทัศน์


ไม่มีละครน้ำเน่า

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เมืองย่อยในเกาหลี มีเยอะ

สนับสนุน ความเป็นเอกราช

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เจอแล้ว .. ฮ่า ๆ กว่าจะหาที่เม้นเจออะ

อยู่ที่นี้มีแต่เพื่อนเกาหลีอะ .. หล่อ ๆ ๆ ฮ่า ๆ ๆ

อีกนิดนึงก็พูดเกาหลีได้ละมั้งเนี๊ยะ

เมกามีแต่เกาหลีใต้อ่า .. ผู้ ญ เกาหลีนี้ ไม่มีคิ้วอะ -"-

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยมานานเล้ว ซึ่งเป็นระบอบที่ดี เพราะประชาชนได้มีส่วนร่วม

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ประเทศไทยดีกว่า ((มั่ง)) ?

park pangpond กล่าวว่า...

ประวัติของประเทศเกาหลีใต้น่าสนใจมาก ขอบคุณครับ^^

หทัยรัตน์ ปัดคำ กล่าวว่า...

ประวัติดีและน่าสนใจมากค้ะชอบมาก

ทานตะวัน จันทะคาม กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติของประเทศเกาหลีใต้.